ากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พังค์ร็อก (Punk rock) เป็นดนตรีร็อกประเภทหนึ่ง (โดยมากมักเรียกสั้นๆว่า พังค์) มีการเคลื่อนไหวและเป็นที่รู้จักในช่วงกลางทศวรรษที่ 70 พังค์ร็อกได้พัฒนาระหว่างปี 1974 และ 1977 ในสหรัฐอเมริกา,สหราชอาณาจักร และ ออสเตรเลีย โดยมีวงอย่าง เดอะ ราโมนส์, เซ็กซ์ พิสทอลส์ และ เดอะ แคลช ที่เป็นที่รู้จักในฐานะแนวหน้าของดนตรีประเภทนี้
ลักษณะดนตรีแบบ พังค์ร็อกมีลักษณะท่วงทำนองที่รุนแรง หยาบกระด้าง ด้วยการขาดทักษะการของการเล่นดนตรี ส่วนการร้องก็จะเป็น "ตะโกน"หรือ "บ่น" และแฝงนัยยะของ "การต่อต้าน " และการยกย่อง "ความเป็นเลิศ" เครื่องดนตรีจะประกอบด้วย กีตาร์ไฟฟ้า 1 หรือ 2 ตัว ,เบสไฟฟ้าและชุดกลอง มักมีการเล่นแบบ 2 คอร์ด เพลงพังค์มักมีความยาวระหว่าง 2 ถึง 2 นาทีครึ่ง มีบางเพลงมีความยาวน้อยกว่า 1 นาทีก็มี เพลงพังค์ในช่วงแรกรับอิทธิพลจากร็อกแอนด์โรลคือมีท่อนประสานเสียง
พังค์ร็อกกลายเป็นกระแสนิยมหลักในสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 70 แต่ความโด่งดังในที่อื่นมีในจำกัด จนกระทั่งทศวรรษที่ 80 พังค์ร็อกได้เป็นที่รู้จักในกลุ่มเล็กๆ ทั่วทุกมุมโลก ส่วนมากจะถูกปฏิเสธจากดนตรีกระแสหลัก ในช่วงปลายยุคทศวรรษที่ 70 ดนตรีพังค์ร็อกได้แตกแยกแขนง ไปหลากหลายทิศทาง เช่นเพลงแนว นิวเวฟ ,โพสต์-พังค์ โดยหลายวงได้ทำการทดลองแนวดนตรีไปในทิศทางอื่น เช่นแนวฮาร์ดคอร์พังค์ และ Oi! และ อะนาร์โค-พังค์ เป็นต้น
และพังค์ร็อกยุคใหม่ได้พัฒนาไปอีกขึ้น โดยเพลงแนวอัลเทอร์เนทีฟได้รับความนิยมเหมือนตอนที่ได้พังค์ร็อกรับความนิยมในช่วงแรก
ลักษณะ
พังค์ยุคแรกมีจุดความก้าวร้าว ซึ่งดูไกลจากร็อกในต้นยุคทศวรรษที่ 70 ที่อ่อนไหวและฟังดูรื่นหูทอมมี ราโมน มือกลองวงเดอะ ราโมนส์ เคยกล่าวไว้ว่า "ในช่วงแรกของการเริ่มต้น วงยุค 60 หลายวง ได้ปฏิรูปและมีความน่าตื่นเต้น แต่โชคไม่ดีที่อยู่ได้ไม่นาน พวกเรารู้ว่าต้องการสิ่งที่ต้องการคือความบริสุทธิ์ และไม่ต้องการ ร็อกแอนด์โรล"
จอห์น โฮล์มสตรอม บรรณาธิการนิตยสาร พังค์ แฟนไซน์ให้ความเห็นกับการเกิดของพังค์ร็อกว่า "พังค์ร็อกเกิดขึ้นเพราะดนตรีร็อกในช่วงนั้นดูน่าเบื่อ อย่าง บิลลี โจเอล ,ไซมอน แอนด์ การ์ฟังเกล ที่ถูกเรียกว่าร็อกแอนด์โรล โดยร็อกแอนด์โรลมีความหมายกับหลายๆคนว่า ดนตรีขบถและป่าเถื่อน" ดนตรีพังค์นั้นถือกำเนิดมาจากความคิดของคนหนุ่มชนชั้นกลางจนถึงชนชั้นกรรมาชีพโดยมีความปรารถนาที่จะหลีกหนีสังคมที่ไม่เคยเห็นอกเห็นใจหรือช่วยเหลือเกื้อหนุนต่อพวกเขาเลยและคิดว่าสิ่งที่พวกเขาคิดพูดและแสดงออกนั้น ไร้สาระโดยสิ้นเชิง
ในคำวิจารณ์ของโรเบิร์ต คริสต์เกาอธิบายไว้ว่า "มันก็คือวัฒนธรรมย่อยอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธการเมือง ความสมบูรณ์แบบ และ นิทานปรัมปรางี่เง่าของพวกฮิปปี้"ในทางตรงกันข้ามแพตติ สมิธเอ่ยในรายการสารคดี 25 ปีของพังค์ว่า "พังค์และฮิปปี้มีจุดร่วมเหมือนกันคือ ต่อต้านร็อกแอนด์โรล ในบางครั้งก็ปฏิเสธไม่เฉพาะร็อกกระแสหลักและวัฒนธรรม" ในปี 1977 เมื่อพังค์ในก้าวสู่กระแสหลักในสหราชอาณาจักร ถูกเรียกว่า "ปีศูนย์" (Year Zero) การหวนสู่ความหลังถูกทิ้งไป แต่ได้รับแนวความคิดแบบไร้จริยธรรมเข้าไป โดยวงเซ็กซ์ พิสทอลส์มีคำขวัญว่า "ไร้อนาคต" (No Future)
วงพังค์มักเลียนแบบโครงสร้างดนตรีที่เปลือยเปล่าและการเรียบเรียงดนตรีของดนตรีแนวการาจร็อก ในช่วงทศวรรรษที่ 60นิตยสารพังค์ ไซด์เบิร์นส ในปี 1976 ได้ล้อเลียนโดยภาพวาด 3 คอร์ด มีคำอธิบายว่า "นี่คือคอร์ด นี่อีกคอร์ด และนี่คอร์ดที่สาม ตอนนี้ฟอร์มวงได้แล้ว"
เครื่องดนตรีจะประกอบด้วย กีตาร์ไฟฟ้า 1 หรือ 2 ตัว ,เบสไฟฟ้า,ชุดกลอง ในช่วงแรกพังค์ร็อกดูสับสน จอห์น โฮล์มสตรอม กล่าวว่า "พังค์คือร็อกแอนด์โรลในสายตาคนที่ไม่รู้เรื่องดนตรีมากนัก แต่รู้สึกได้ถึงความต้องการที่จะปลดปล่อยตัวเองในดนตรี" การร้องของพังค์บางครั้งฟังเหมือนเสียงขึ้นจมูก และบ่อยครั้งที่จะตะโกนแทนที่จะร้อง ความซับซ้อนของกีตาร์บ่งบอกถึงความหลงผิดในตัวเอง
เบสกีตาร์มักจะเป็นพื้นฐานทั่วไปโดยมีส่วนช่วยพยุงเมโลดี้ของเพลง มีมือเบสวงพังค์บางวงอย่าง ไมค์ วัตต์ และ ฌอง-แจ็คส์ เบอร์เนล แห่งวงเดอะ สเตรนเจอร์ส จะเน้นเบสขึ้นมา มือเบสหลายๆวงมักใช้ปิ๊กมากกว่าการใช้นิ้วเนื่องจากความรวดเร็วต่อเนื่องของโน้ต กลองโดยทั่วไปจะหนักและดูแห้ง จะมีการปรับแต่งเพียงเล็กน้อย เพลงพังค์มักมีความยาวระหว่าง 2 ถึง 2 นาทีครึ่ง มีบางเพลงมีความยาวน้อยกว่า 1 นาทีก็มี เพลงพังค์ในช่วงแรกรับอิทธิพลจากร็อกแอนด์โรลคือมีท่อนประสานเสียง อย่างไรก็ตามวงพังค์รุ่นใหม่อาจรวมแนวเพลง โพสต์-พังค์ และ ฮาร์ดคอร์พังค์ จะไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ดังกล่าว ฮาร์ดคอร์พังค์ กลองจะเร็วขึ้น เนื้อเพลงจะกึ่งตะโกน เสียงกีตาร์ฟังดูก้าวร้าว
ภาคเนื้อร้องโดยทั่วไปจะเป็นการพูดกันตรงๆ โดยจะวิจารณ์สังคมการเมืองเช่นเพลง "Career Opportunities" ของวงเดอะ แคลช,"Right to Work" ของวงเชลซี เป็นต้น ยังมีเพลงที่มีเนื้อหาตึงเครียดในลักษณะต่อต้านความรัก พรรณาถึงความสัมพันธ์ของชายหญิงและเรื่องเพศสัมพันธ์อย่างเพลง "Love Comes in Spurts" ของวง เดอะวอยดอยด์ส
วี. เวลกล่าวว่า "พังค์เป็นนักปฏิวัติวัฒนธรรม เผชิญหน้ากับความมืดของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม พวกอนุรักษ์นิยม ข้อห้ามทางเพศ ได้ขุดในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนออกมาโดยคนรุ่นใหม่อย่างสมบูรณ์"
รูปแบบการแต่งกายของชาวพังค์ พวกเขาใส่ที-เชิร์ต สวมแจ็คเก็ตมอเตอร์ไซค์ กางเกงยีนส์ เป็นการยกย่องอเมริกันกรีซเซอร์ในยุคทศวรรษที่ 50 ในยุคทศวรรษที่ 80 การสักและการเจาะได้รับความนิยมในหมู่นักดนตรีพังค์และแฟนเพลง
ยุคก่อนพังค์ร็อกการาจร็อกและม็อด
ในช่วงต้นและกลางยุคทศวรรษที่ 60 วงดนตรีการาจร็อก ได้ยอมรับว่าเป็นต้นกำเนิดของดนตรีพังค์ เริ่มต้นในหลายๆที่ทางอเมริกาเหนือ วงเดอะ คิงส์เม็น การาจร็อกจากพอร์ทแลนด์ โอรีกอน ได้เปิดตัวด้วยเพลงดัง "Louie, Louie" เพลงเก่าที่นำมาทำใหม่ในรูปแบบพังค์ร็อก
รูปแบบซาวนด์ที่น้อยของวงการาจร็อกหลายๆวงได้รับอิทธิพลมาจาก วงเดอะ คิงค์ส กับเพลงดัง "You Really Got Me" และ "All Day and All of the Night" ในปี 1964 ได้ถูกบรรยายว่าเป็นต้นแบบของเพลง 3 คอร์ด ของวงเดอะ ราโมนส์ในปี 1978 กับเพลง 'I Don't Want You'
วงเดอะ ฮูกับเพลง "My Generation" ก็ได้อิทธิพลมาจากวง เดอะ คิงค์สซึ่งวงเดอะ ฮูและ เดอะ สมอลล์ เฟสเซส เป็นวงร็อกยุคก่อนหน้าที่เป็นที่รู้ดีกันว่ามีอิทธิพลให้กับวง เซ็กซ์ พิสทอลส์ในปี 1966 ม็อดได้ลดความนิยมในสหรัฐอเมริกาไป การาจร็อกในอเมริกาเสื่อมความนิยมไปในไม่กี่ปี แต่แนวดนตรีใหม่ที่มาแทนคือ การาจ ซิช (garage psych) เช่นวง เดอะ ซีด ที่ต่อมาเป็นที่รู้จักในแนว โปรโตพังค์
โปรโตพังค์
ในปี ค.ศ. 1969 มีวงจากมิชิแกน 2 วงได้ออกอัลบั้มแนวโปรโตพังค์ ถือได้ว่ามิชิแกนมีความเกี่ยวข้องกับศูนย์กลางของโปรโตพังค์ ต่อมาวง MC5 จากดีทรอยต์ ออกอัลบั้ม Kick Out the Jams "ทางวงได้ตั้งใจให้ออกมาหยาบและดิบ" เขียนโดยนิตยสารโรลลิ่ง สโตนโดย เลสเตอร์ แบงส์ "เพลงส่วนใหญ่จะค่อนข้างไม่แตกต่างกันเลย เพลงมีโครงสร้าง 2 คอร์ดแบบดิบๆ คุณจะเคยได้ยินมาก่อนกับวงอย่าง ซีดส์ ,บลู เชียร์,เควสชัน มาร์ค แอนด์ เดอะ มิสทีเรียนส์ และ เดอะ คิงส์เม็น ความแตกต่างคือ การหลอกลวง โดยปกปิดบางส่วนของความซ้ำซากด้วยเสียงที่น่าเกลียด ในท่อน "I Want You Right Now" ฟังดูเหมือนเพลง "I Want You" ของวงเดอะ ทร็อกส์"
ฤดูร้อนในปีนั้น วงเดอะ สตูกส์ ได้ออกอัลบั้มแรกโดยมีอิกกี้ ป็อป เป็นนักร้องนำ อัลบั้มนี้โปรดิวซ์โดย จอห์น เคล อดีตสมาชิกวงร็อก เดอะ เวลเว็ต อันเดอร์กราวนด์ อัลบั้มนี้เป็นแรงบันดาลใจไม่ทางตรงก็ทางอ้อมให้กับการเกิดของดนตรีพังค์
ทางฝั่งตะวันออก วงนิวยอร์กดอลส์ ได้ถือกำเนิดแฟชั่นร็อกแอนด์โรลแบบดุร้าย ที่ต่อมารู้จักกันในนามของ แกลมพังค์ (glam punk) ในโอไฮโอ วงร็อกอันเดอร์กราวนด์ได้ปรากฏออกมา นำโดย เดโว, เดอะ อีเลทริค อีลส์ และ ร็อกเก็ต ฟอร์ม เดอะ ทูมบส์ ในลอนดอน ดนตรีร็อกได้กลับคืนสู่สามัญ และได้ปูพื้นให้นักดนตรีหลายคนสู่วงการเพลงพังค์เช่นวงเดอะ สเตรนเจอร์ส,ค็อค สปาร์เรอร์ และ โจ สตรัมเมอร์ ซึ่งต่อมาคือสมาชิกวงเดอะ แคลช
ในออสเตรเลีย วงการาจร็อกรุ่นใหม่หลายวงได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับ เดอะ สตูกส์ และ MC5 ที่มีซาวน์ดนตรีที่ใกล้เคียงกับความเป็นพังค์ที่สุด ในบริสเบน วงเดอะ เซนตส์ ได้เล่นเพลงดิบๆแบบอังกฤษ และได้ทัวร์ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในปี 1965สถานีวิทยุเบิร์ดแมนได้เล่นเพลงการแสดงสดเล็กๆนี้ด้วย แต่ความคลั่งไคล้ได้ตามมาถึงซิดนีย์
ที่มาของคำว่าพังค์
ก่อนกลางทศวรรษที่ 70 คำว่าพังค์ เป็นคำเก่าแก่ที่มีความหมายคลุมเครือ มักใช้อธิบายถึงผู้ชายหากิน พวกนักเลงอันธพาล นักเลงหัวไม้เลคส์ แม็คนีลอธิบายว่า "เมื่อคุณดูรายการโทรทัศน์เกี่ยวการตามล่าคนร้ายของตำรวจ เวลาตำรวจจับผู้ร้าย พวกเค้ามักจะพูดว่า 'you dirty Punk' ถ้าครูเรียกคุณอย่างนั้นก็หมายความว่า คุณต่ำที่สุด"ความหมายของคำว่าพังค์ชัดเจนขึ้นโดย นักวิจารณ์เพลงร็อก เดฟ มาร์ชในปี 1970 เมื่อเขาได้อธิบายลักษณะดนตรีและทัศนคติของวงเควสชัน มาร์ค แอนด์ เดอะ มิสทีเรียนส์ เดือน มิถุนายน 1972 นิตยสารแฟลชได้จัดอันดับ "เพลงพังค์สิบอันดับ" แห่งทศวรรษที่ 60
ในปี 1975 พังค์ได้ใช้อธิบายถึงการกระทำหลายๆอย่างของวง แพตติ สมิธ กรุ๊ป ,เดอะ เบย์ ซิตี้ โรลเลอร์ส และ บรู๊ซ สปริงสทีน ที่นิวยอร์ก คลับ CBGB คลับที่หาแนวเพลงใหม่ๆ เจ้าของคลับคือ ฮิลลี คริสตัล ส่วนจอห์น โฮล์มสตรอมได้ให้เครดิต นิตยสารอควาเรียนเกี่ยวกับพังค์ว่า "เป็นการอธิบายว่าอะไรเกิดขึ้นใน CBGB บ้าง" ซึ่งต่อมา โฮล์มสตรอมร่วมกับ แม็คนีล และ เก็ด ดันน์ ทำนิตยสารที่ชื่อว่า "พังค์" เปิดตัวปลายปี 1975 ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญของคำว่าพังค์โฮล์มสตรอมกล่าวว่า "มันเป็นอะไรที่ดีที่คำนี้มันดังขึ้นมา เราคิดคำนี้ได้ก่อนที่ใครจะคิดได้ เราต้องการขจัดร็อกแอนด์โรลงี่เง่าออกไป สิ่งที่เราต้องการคือความสนุกและน่าตื่นเต้น"
พังค์ยุคใหม่
อัลเทอร์เนทีฟร็อก
วงพังค์ร็อกใต้ดินเกิดขึ้นมาด้วยนับไม่ถ้วน ทั้งเกิดขึ้นมาโดยซาวด์ดนตรีแบบพังค์และได้ประยุกต์ในเจตนารมณ์ของ DIY สู่ความแตกต่างหลากหลายของดนตรี จนกระทั่งต้นยุคทศวรรษที่ 80 วงในสหราชอาณาจักรอย่างนิว ออร์เดอร์ และ เดอะ เคียวร์ (The Cure) ได้พัฒนาดนตรีรูปแบบใหม่โดยยึดหลักจากแนวโพสต์พังค์และนิวเวฟ ส่วนในอเมริกาวงอย่าง Hüsker Dü และวงที่ตามมาอย่าง เดอะ รีเพลซเม็นต์ส ได้เชื่อมช่องว่างระหว่างแนวพังค์อย่างฮาร์ดคอร์และดนตรีที่ตอนนั้นเรียกว่า คอลเลจร็อก
ในปี 1985 นิตยสารโรลลิ่งสโตนได้เขียนเกี่ยวกับวงอย่าง แบล็ค แฟล็ก,Hüsker Dü,มินิทเม็น และเดอะ รีเพลซเม็นต์ส ว่า "วงพังค์ดั้งเดิมได้ผ่านไปแล้ว วงพังค์ร็อกอเมริกันที่ดีที่สุดได้เข้ามาแทน พวกเขาได้รู้จักว่าการเล่นดนตรีเป็นอย่างไร และได้ค้นพบเมโลดี้ การโซโล่กีตาร์ และเนื้อเพลงที่มีอะไรมากไปกว่าการตะโกนคำขวัญทางการเมือง"โดยช่วงสิ้นสุดทศวรรษที่ 80 วงเหล่านี้ได้แปลเปลี่ยนมาเป็นอัลเทอร์เนทีฟร็อก โดยอัลเทอร์เนทีฟร็อกได้รวมความหลากหลายของสไตล์ อย่าง อินดี้ร็อก ,กอธิกร็อก,กรันจ์ และอื่นๆ ทำให้เป็นหนึ่งเดียวกันโดยอยู่ในต้นแบบของพังค์ร็อกสู่กระแสนิยมทางด้านดนตรี
วงอัลเทอร์เนทีฟอย่าง โซนิก ยูธ ที่ได้โตขึ้นจากแนวโนเวฟ และวงจากบอสตันอย่างพิกซี่ ได้เริ่มมีกลุ่มคนฟังที่กว้างขวางขึ้น ในปี 1991 วงเนอร์วาน่าได้เกิดขึ้นในกระแสของเพลงแนวกรันจ์ และได้ประสบความสำเร็จทางด้านธุรกิจกับอัลบั้มที่ 2 ของพวกเขา Nevermind เนอร์วาน่าได้สดุดีว่าพังค์เป็นอิทธิพลสำคัญของดนตรีพวกเขาเคิร์ท โคเบนนักร้องนำวงเนอร์วาน่าได้เขียนไว้ว่า "พังค์คือดนตรีที่อิสระ มันพูด กระทำ และเล่นในสิ่งที่คุณต้องการ"การประสบความสำเร็จขอวงเนอร์วาน่าได้เป็นตัวกระตุ้นให้กระแสอัลเทอร์เนทีฟร็อกดังขึ้นมา และได้เป็นส่วนหนึ่งของแนวดนตรีที่ได้รับความนิยมในทศวรรษที่ 90 ด้วย
เควียร์คอร์และ riot grrrl
ในทศวรรษที่ 90 วงพังค์บางวงมีสมาชิกเป็นเกย์ อย่างเช่น ฟิฟธ์ คอลัมน์,ก็อด อีส มาย โค-ไพล็อต,แพนซี ดิวิชัน,ทีม เดร็ช และ ซิสเตอร์ จอร์จ พวกเขาได้พัฒนาเพลงแนวเควียร์คอร์ ถึงแม้ว่าจะมีต้นกำเนิดมาจากพังค์ แต่ก็แพร่ขยายไปในแนวดนตรีที่หลากหลาย อย่างฮาร์ดคอร์ ,อินดี้ร็อก,พาวเวอร์ป็อป,โนเวฟ,น็อยส์ ,เอ็กซ์เพอริเม็นทอล และ อินดัสเทรียล เนื้อเพลงของเควียร์คอร์ มักจะเกี่ยวกับ ความอคติ,อัตลักษณ์ทางเพศ,สิทธิส่วนบุคคล โดยอาจกล่าวทั้งในทางขบขันหรือกิริยาท่าทางที่จริงจัง
ในปี 1991 คอนเสิร์ต Love Rock Revolution Girl Style Now ที่จัดขึ้นในโอลิมเปีย,วอชิงตัน ได้ประกาศการเกิดขึ้นของเพลงแนว riot grrrl ศิลปินที่มาร่วมงาน รวมถึงวงหลายวงที่มีผู้หญิงเป็นแกนนำอย่าง บิกินิ คิลล์,แบรตโมบายล์ และ เฮฟเวนส์ ทู เบ็ตซี
นักร้องนำวงบิกินิ คิลล์ ชื่อแคธลีน ฮานนา เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของเพลงแนว riot grrrl ซึ่งต่อมาได้เข้าทำงานในแนวอีเลคโทรอาร์ตพังค์กับวง เลอ ทิกร์ ส่วนมือกีตาร์วงเฮฟเวนส์ ทู เบ็ตซี ชื่อ โคริน ทักเกอร์ และ แคร์รีย์ บราวสไตน์ จากวง เอ็กซ์คิวส์ 17 ต่อมาทั้งคู่ได้ร่วมกันตั้งวงอินดี้ร็อก/พังค์ ชื่อ สลีทเทอร์-คินนีย์
อีโม
คำว่าอีโมได้เคยถูกอธิบายเป็นหนึ่งในแนวย่อยของฮาร์ดคอร์พังค์ ที่มีต้นกำเนิดในวอชิงตันดีซีในช่วงกลางทศวรรษที่ 80 คำว่าอีโมมีที่มาจากข้อเท็จจริงที่สมาชิกในวง บางครั้งจะใส่อารมณ์ (emotional) ในการแสดง สังเกตได้จากวงอีโมในยุคแรกๆอย่าง ไรตส์ ออฟ สปริง,เอ็มเบลซ และ วัน ลาสต์ วิช คำว่า อีโม ย่อมาจาก Emotional Hardcore เน้นการแสดงสดที่เน้นถึงอารมณ์และความรู้สึก แต่แตกต่างจากฮาร์ดคอร์ เนื่องจาก เนื้อหาในสัดส่วนของอีโมร็อกนั้น เน้นสำรวจความรู้สึกภายในจิตใจของตัวเอง มากกว่าวนเวียนก่นด่าถึงสิ่งที่อยู่รอบข้างตัวเอง โดยในช่วงทศวรรษที่ 90 มีวงอีโมเกิดขึ้นมาโดยเฉพาะจากย่านมิดเวสต์หลายวง ไม่ว่าจะเป็น เดอะ เก็ต อัพ และ จิมมี อีท เวิลด์ ที่ได้รับอิทธิพลมาแบบเต็มๆ จากวงรุ่นพี่อย่าง ฟูกาซิ
วงอย่าง ซันนี่ เดย์ เรียล เอ็สเตต และ เท็กซัส อีส เดอะ รีซัน ได้แสดงเพลงอินดี้ร็อกในรูปแบบของอีโม ที่มีรูปแบบเพลงที่เป็นเมโลดี้มากขึ้น และลดความยุ่งเหยิงลงกว่าอีโมก่อนหน้านี้ วงแอนทอยช์ แอรโรว์ เล่นเพลงอีโมที่รุนแรงขึ้น ที่ต่อมารู้จักกันในชื่อ "สครีโม่" แฟนเพลงอันเดอร์กราวด์หลายคนอ้างว่าวงอีโมในปัจจุบันแทบไม่มีคุณสมบัติของพังค์เลย
พังค์รีไววัล
ในยุคเดียวกับเนอร์วาน่า วงอัลเทอร์เนทีฟร็อกหลายวงในช่วงต้นทศวรรษที่ 90 ได้ตอบรับกระแสพังค์ ได้ช่วยให้พังค์ร็อกได้ฟื้นคืนชีพ ในปี 1994 วงพังค์ร็อกจากแคลิฟอร์เนียอย่าง กรีน เดย์ ,ดิ ออฟสปริง,แรนซิด และ แบด รีลิเจียน เป็นตัวสำคัญของความสำเร็จด้วยการช่วยเหลือจากเอ็มทีวีและสถานีวิทยุที่โด่งดังอย่าง KROQ-FM ถึงแม้ว่ากรีน เดย์และแบด รีลิเจียนจะอยู่ในสังกัดค่ายเพลงใหญ่ก็ตาม การประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างมากของกรีน เดย์และดิ ออฟสปริง ได้ปูทางให้ศิลปินแนวป็อปพังค์อย่างวง บลิงก์-182,ซิมเปิล แพลน,กู้ด ชาร์ล็อตต์ และ ซัม 41
วงจากบอสตัน ไมตี้ ไมตี้ บอสสโตนส์ และวงแนวสกาพังค์จากแคลิฟอร์เนีย วงซับไลม์ ได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในช่วงปลายทศวรรษที่ 90 ซึ่งต่อมาวงสกาพังค์อย่าง รีล บิ๊ก ฟิช และ เลส เดน เจค ก็ได้ได้การตอบรับที่ดีจากแฟนเพลงในยุค 2000 วงอื่นที่มีรากมาจากฮาร์คอร์พังค์ อย่าง เอเอฟไอ มีเพลงขึ้นชาร์ทในยุค 2000 วงเซลติกพังค์ อย่างวง ฟล็อกกิง มอลลี และ ดร็อปคิก เมอร์ฟีส์ ได้รวมแนวเพลง Oi! เข้าไปด้วย
การเกิดใหม่ของพังค์เห็นได้ชัดว่า ว่ากลุ่มคนที่ฟังพังค์ได้เข้าสู่กระแสหลักซึ่งก็มีแฟนเพลงพังค์หลายคนได้ต่อต้านการเกิดเช่นนี้ อย่างความโด่งดังของวง ซัม 41 และ บลิงก์-182
พังค์ในประเทศไทย
ในช่วงที่วงเซ็กซ์ พิสทอลส์ได้เข้าสู่กระแสนิยมหลักทั่วโลก เพลงร็อกในประเทศไทยนิยมเพลงแนวโปรเกรสซีฟ เพลงแบบบุปผาชน หรือเพลงฮาร์ดร็อกอย่าง แบล็ค แซบบาธ, เล็ด แซพพลิน
ต่อมากระแสพังค์ในประเทศไทยเกิดตอนปลายยุคทศวรรษที่ 80 มีการเกิดของรายการเพลง เรดิโอ แอคทีฟ โดยไนต์สปอต เข้ามาปฏิวัติด้วยที่ไม่เปิดเพลงร็อกเก่าๆ และเพลงป็อปตลาด โดยการนำของวาสนา วีระชาติพลี ดีเจชื่อดัง ดนตรีแนวพังค์เริ่มเป็นที่รู้จักในเมืองไทยจริงๆเมื่อกลางยุคทศวรรษที่ 90 หรือช่วงที่ดนตรีแนวช่วงอัลเทอร์เนทีฟดังมากในประเทศไทย อย่างวง แมนิค สตรีท พรีชเชอร์ส ที่เคยมาแสดงคอนเสิร์ตในประเทศไทยแล้ว เป็นต้น
ส่วนวงดนตรีพังค์ร็อกในประเทศไทย เช่นวงเอบี นอร์มอลมังกี้ แพ้นส์,หมีน้อยซิก ไชด์และ สติวเด้นต์ อักลีนอกจากนั้นยังมีวงอีโมพังค์อย่างวงไรทาลิน ของค่ายมิวสิกบั๊กส์และวงเรทโทรสเปควงอีโมที่ได้รับความนิยมในหมู่เด็กวัยรุ่นชายในปัจจุบันเป็นต้น
วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น